กิจกรรมบริษัท

ในการใช้งานน้ำมันไฮดรอลิค

ในการใช้งานน้ำมันไฮดรอลิคในแต่ละสภาวะการใช้งาน มีความแตกต่างกันในหลายๆ เรื่อง ทั้งสถานที่ เครื่องจักร สภาเครื่องจักร ระบบต่างๆ ในเครื่องจักร ลักษณะการทำงาน ปริมาณงาน สภาวะการทำงาน ที่สำคัญ ได้แก่ ความร้อน ความสะอาด ความชื้น จำนวนครั้งและปริมาณในการเติมเพิ่ม (top-up) เนื่องจากเกิดการรั่วซึม และอื่นๆ จึงเป็นเรื่องยากที่จะระบุว่ามีความจำเป็นจะต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำมันไฮดรอลิคเมื่อผ่านการใช้งานไปแล้วเมื่อใด

ในโรงงานหรือพื้นที่ใช้งานทั่วไป จะมีแผนการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันไฮดรอลิกที่ผ่านการพิจารณาจากหลายปัจจัย ได้แก่ แผนการทำงาน หรือแผนการผลิต สภาพเครื่องจักร เกรดน้ำมันไฮดรอลิกที่เลือกใช้ รวมถึงต้นทุนการซ่อมบำรุงในภาพรวม โดยส่วนใหญ่จะมีรอบการเปลี่ยนถ่าย เช่น 1 ปี ซึ่งจะสะดวกในการวางแผนการซ่อมบำรุงเชิงป้องกัน (PM: Preventive Maintenance) ที่สอดคล้องกับแผนการผลิต ซึ่งถ้าไม่เกิดปัญหาใดใด เนื่องจากแผนการเปลี่ยนถ่ายนี้ ก็มักจะใช้รอบการเปลี่ยนถ่ายนี้โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง

แต่ในบางกรณี หากพิจารณาแล้วว่าเกิดปัญหาในเรื่องต้นทุนการซ่อมบำรุง หรือเกิดปัญหากับเครื่องจักร ซึ่งอาจจะเกิดมาจากสภาพของน้ำมันไฮดรอลิคที่ใช้งาน อาจเกิดคำถามว่า รอบการเปลี่ยนถ่ายที่ได้วางแผนไว้ เหมาะสมกับสภาพที่เกิดขึ้นหรือไม่ อาจจำเป็นต้องลดระยะการเปลี่ยนถ่าย เพื่อให้ได้น้ำมันที่ยังไม่เสื่อมสภาพมากเกินไปจนมีผลต่อเครื่องจักร หรือยืดระยะการเปลี่ยนถ่าย เพื่อลดต้นทุนในการซ่อมบำรุง ซึ่งวิธีที่นิยมคือการส่งตัวอย่างน้ำมันไฮดรอลิคใช้แล้วไปวิเคราะห์ (Used oil analysis) โดยผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะมีกระบวนการในการเก็บตัวอย่างในระยะเวลา ปริมาณ และจุดที่ทำการเก็บตัวอย่างน้ำมันจากเครื่องจักร รวมถึงรายการการทดสอบและการวิเคราะห์ผลการทดสอบ ที่จะช่วยให้ได้ผลการทดสอบจากเครื่องมือวิทยาศาสตร์ต่างๆ ในห้องทดสอบ ตรงกับสิ่งที่ต้องการ สำหรับนำไปพิจารณาวางแผนการเปลี่ยนถ่ายให้เหมาะสมกับโรงงาน หรือพื้นที่ใช้งานมากที่สุด

แต่เนื่องจากการส่งตัวอย่างน้ำมันใช้แล้วไปวิเคราะห์ จะมีค่าใช้จ่ายในขั้นตอนการทดสอบและวิเคราะห์ จึงต้องมีการวางแผนให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าที่สุด